
เชียงราย 15 พ.ค. - กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเข้มจัดระเบียบจุดขึ้น-ลงสินค้าเลียบแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย หลังการก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน 2 แล้วเสร็จใน 2 ปีข้างหน้า ขณะที่การท่าเรือฯ โชว์ผลประกอบการท่าเรือเชียงแสน 1 ช่วง 7 เดือนแรกพบการใช้ท่าเรือคับคั่งมีการขยายตัวกว่าร้อยละ 30 มีมูลค่าการส่งออกนำเข้าสินค้ากว่า 4,500 ล้านบาท
นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กล่าวว่า ขณะนี้การเร่งรัดก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน 2 จังหวัดเชียงราย มีความคืบหน้าน่าพอใจ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอเข้าใช้พื้นที่ในเฟสที่ 1 เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และต้องมีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่เกษตรกรประมาณ 50 ล้านบาท และในอนาคตเมื่อมีการขยายพื้นที่ทั้ง 2 เฟส ซึ่งจะทำให้ท่าเรือเชียงแสน 2 มีเนื้อรวมกว่า 300 ไร่ โดยคาดว่า การออกแบบรายละเอียดท่าเทียบเรือ อาคารคลังสินค้า และสำนักงานจะแล้วเสร็จในปีนี้ จะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2549 และมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 3 ปี หรือปลายปี 2551 เปิดใช้งานได้ในต้นปี 2552 คิดเป็นงบประมาณลงทุนรวม 1,100 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ กรมฯ จะเข้มงวดจับกุมโดยเฉียบขาดกับการจอดเรือสินค้าบริเวณจุดขึ้นลงของเอกชนเลียบแม่น้ำโขงที่มีอยู่หลายสิบแห่งในเชียงราย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีสภาพเป็นท่าเรือตามระเบียบที่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมฯ แต่ที่ผ่านมาได้มีการผ่อนผันให้ดำเนินการเพื่อรองรับสินค้าที่มีปริมาณมากและท่าเรือเชียงแสน 1 ไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ และที่สำคัญการขึ้นลงสินค้า ณ จุดขนถ่ายหล่านี้มีผลเสียทั้งทำให้ไม่ทราบปริมาณสินค้านำเข้าและส่งออกได้ชัดเจน ปัญหาสินค้าหนีภาษี และสินค้าที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
ที่ผ่านมาการผ่อนผันจำเป็นต้องมี เพราะบางครั้งเรือสินค้าจากจีนผ่านนำสินค้าเข้ามาครั้งเดียวถึง 12 ลำ แต่ท่าเรือเชียงแสน 1 สามารถรองรับเรือได้เพียง 8 ลำ ซึ่งหากไม่รีบขึ้นสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าด้านการเกษตรจะเน่าเสียได้ แต่เมื่อท่าเรือเชียงแสน 2 เปิดให้ดำเนินการ ซึ่งจะมีความสามารถรองรับท่าเรือได้ครั้งละ 22 ลำ เพียงพอต่อความต้องการใช้ของเรือสินค้าทุกฝ่ายก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นายถวัลย์รัฐ กล่าว
ขณะที่นายวันชัย ศารทูลทัต ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังนำคณะสื่อมวลชนตรวจสอบการใช้ประโยชน์ของท่าเทียบเรือเชียงแสน 1 ว่า ขณะนี้ปริมาณการใช้ท่าเรือถือว่าคับคั่งมากที่สุด และคาดว่าจะเต็มกำลังความจุดของพื้นที่ภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะตรงกับช่วงเดียวกันของท่าเรือเชียงแสน 2 เฟสแรกจะสามารถเปิดให้บริการได้พอดี ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่กระทรวงคมนาคมวางไว้ ท่าเรือเชียงแสนทั้งสองแห่งก็จะถือเป็นท่าเรือยุทธศาสตร์ที่รองรับการขนสน่งสินค้าจากจีนตอนใต้ที่นำเข้ามาในประเทศผ่านภาคเหนือตอนบนไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างมีศักยภาพ
ด้านนายเฉลิมเกียรติ สลักคำ ผู้อำนวยการสำนักงานท่าเรือภูมิภาค การท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงตัวเลขการใช้ท่าเรือเชียงแสน 1 พบว่า ภายใน 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2548 ปริมาณการใช้ท่าเรือสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยมีเรือผ่านเข้าออกท่าเรือประมาณ 1,700 ลำ เฉลี่ยเดือนละ 200 ลำ มีสินค้าผ่านเข้าออกรวม 85,000 ตัน แบ่งเป็นสินค้านำเข้า 25,000 ตัน และเป็นสินค้าส่งออก 60,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4,500 ล้านบาท.-
2005-05-15